รักษามะเร็งที่ตับ – ตับเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนบนขวาของร่างกาย แบ่งได้เป็นสองส่วนคือตับขวาซึ่งมีขนาดใหญ่และ ตับซ้ายซึ่งเล็กกว่า ตับส่วนเชื่อมต่อซึ่งมีขนาดเล็กกว่า

ตับทำหน้าที่ สร้างสารโปรตีนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งสารน้ำดี (Bile) ที่ช่วยการย่อยอาหารไขมัน ช่วยย่อยทำลายสารพิษต่างๆ และ ขับออกทางน้ำดี ซึ่งสุดท้ายจะระบายออกทาง รูเปิดที่ลำไส้เล็กต่อไป ความผิดปกติของตับ และ ระบบทางเดินน้ำดี จะทำให้เกินลดความผิดปกติของร่างกาย และ เมื่อเสียการทำงานก็จะทำให้เกิด “ภาวะตับวาย” และ เสียชีวิตลงได้

โรคที่ทำให้ตับ และ ทางเดินน้ำดีที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ นอกจากตับแข็ง แล้ว ก็คือ มะเร็งที่ตับ ซึ่งแบ่งได้เป็น

มะเร็งแรกเริ่มจากเนื้อตับเอง หรือ Hepatocellular Carcinoma (HCC)

มีความสัมพันธ์กับโรคตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น การกินเหล้านานๆ ไขมันพอกตับจนอักเสบเรื้อรัง และ ไวรัสตับอักเสบโดยเฉพาะชนิด บี และ ซี (ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ในปัจจุบัน) ในระยะแรกจะไม่มีอาการ จนเป็นมากจึง ปวดแน่นท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลียเรื้อรัง และ ตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับ liver function test ผิดปกติ และอาจพบสารบ่งชี้มะเร็ง AFP สูงขึ้น

มะเร็งแรกเริ่มจากเยื่อบุทางเดินน้ำดี

เกิดจากการระคายเคืองท่อทางเดินน้ำดี เรื้อรังจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ทำให้น้ำดีไหลไม่สะดวก เกิดการคั่งและไหลย้อนไปยังร่างกาย ทำให้ตัวเหลืองตาเหลือง และ ไม่สามารถย่อยอาหารที่มีไขมันได้ ตรวจเลือดพบสารสีเหลือง billirubin สูงขึ้น และอาจพบสารบ่งชี้มะเร็ง CA19-9 สูงขึ้น

มะเร็งเกิดที่อื่นแล้วกระกระจายมาที่ตับ ที่พบบ่อยได้แก่

  • มะเร็งของทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร และ ตับอ่อน
  • มะเร็งปอดและทางเดินหายใจ
  • มะเร็งเต้านมและระบบสืบพันธุ์สตรี เช่น มะเร็งรังไข่
  • มะเร็งของระบบเลือดซึ่งพบร่วมกับอาการตับม้ามโต
  • มะเร็งเหล่านี้ถือว่าเป็นมะเร็งกระจายแล้ว เป็นระยะสี่

การรักษาโรคที่ตับ จึงต้องทำพร้อมกับการจัดการมะเร็งต้นกำเนิดไปพร้อมกัน เช่น การผ่าตัดออก หรือ ฉายรังสี และ ให้ยายับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งไม่ว่ายาเคมีหรือยาทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) เพื่อทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้นานขึ้นหลายปี หรือ บางรายก็สามารถกำจัดมะเร็งได้หมดทุกจุด เมื่อรักษาหลายวิธีร่วมกัน

อาการของมะเร็งที่กระจายมาตับนั้น อาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ดังนั้น เมื่อทำการวินิจฉัยมะเร็งที่มีโอกาสกระจายมาตับ ต้องตรวจภาพทางการแพทย์ และ ค่าการทำงานของตับ และสารบ่งชี้มะเร็ง เช่น AFP CA19-9, CEA

เนื่องจากมะเร็งเนื้อตับหรือ HCC เป็นมะเร็งที่พบบ่อย เรามักมุ่งพิสูจน์ทราบมะเร็งนี้โดย

ตรวจภาพทางการแพทย์เริ่มจากอัลตราซาวด์ และ ยืนยันด้วยการตรวจ Multiphase CT Scan ของช่องท้องพร้อมฉีดสารทึบรังสี ร่วมกับ การตรวจสารบ่งชี้ มะเร็ง และ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ถ้าเข้ากันได้ก็สามารถวินิจฉัยมะเร็งเนื้อตับได้เลย หรือ ยืนยันด้วยการตรวจ MRI ของตับพร้อมสารที่ช่วยแยกรอยโรคมะเร็งตับ ในกรณีที่การตรวจทั้งหมดไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนที่ตับนั้นเป็นมะเร็งจึงทำการเจาะชื้นเนื้อตับต่อไป

เมื่อได้ผลการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเนื้อตับ มะเร็งทางเดินน้ำดี หรือ มะเร็งกระจายมาตับแล้ว ก็ทำการ รักษามะเร็งที่ตับ

การรักษามะเร็งตับ

วิธีมาตรฐานได้แก่การผ่าตัดก้อนมะเร็งตับออก หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนตับซึ่งต้องมีผู้บริจาคที่เข้ากันได้ นอกจากนั้นถ้าไม่สามารถผ่าตัดออกได้ ก็จะเป็นการรักษาเสริม

เพื่อทำลายก้อนมะเร็งที่ตับ ได้แก่ การฉายรังสี ซึ่งจะได้ผลกับมะเร็งทางเดินน้ำดี และมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ หรือ มะเร็งเต้านมที่กระจายไปตับ ไม่ได้ผลต่อมะเร็งเนื้อตับ

เพื่อยับยั้งการกระจายของมะเร็ง ได้แก่

  1. การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะได้ผลกับมะเร็งทางเดินน้ำดี และมะเร็งบางชนิดเช่น มะเร็งลำไส้ หรือ มะเร็งเต้านมกระจายไปตับ ได้ผลน้อยมากต่อมะเร็งเนื้อตับ
  2. การให้ยา Targeted ซึ่งทำลายเซลล์ปกติน้อยมาก แต่ใช้ได้ในมะเร็งเพียงบางชนิด เช่น ยา Sorafenib หรือยา Lenvatinib ซึ่งเป็นยาตัวใหม่ในปัจจุบันได้ผลไม่ต่างจากยา Sorafenib ใช้กับมะเร็งเนื้อตับ
  3. การให้ยาต้านการสร้างเส้นเลือด (AntiVEGF), ยาต้านการแบ่งเซลล์ (Anti EGFR) ซึ่งใช้ร่วมกับเคมีในมะเร็งลำไส้
  4. การให้ยา EGFR TKI, ยาต้าน ALK ในมะเร็งปอด
  5. การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดแบบฉีด ซึ่งมีผลข้างเคียงต่ำซึ่งถือเป็นยามาตรฐานใหม่ที่ได้รับการรองรับแล้ว

สำหรับมะเร็งที่ตับนั้น พบว่าส่วนใหญ่คนไข้มักมาพบแพทย์เมื่อเป็นมาก จนไม่สามารถ ผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีได้ เพราะสภาพร่างกายอาจไม่พร้อมรับการรักษา แต่คนไข้ซึ่งมีความเจ็บปวดทุกทรมานก็ยังต้องการการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด และหนึ่งในการรักษาเหล่านั้นได้แก่

  1. การแทงเข็มจี้ไฟฟ้า เพื่อส่งคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation; RFA) หรือ คลื่นไมโครเวฟ (Microwave Ablation) เพื่อสร้างความร้อนรอบปลายเข็มไปทำลายก้อนมะเร็ง
  2. การใส่สายสวนไปที่เส้นเลือดแดงที่เลี้ยงก้อนมะเร็งแล้วใช้สารเคมีอุดเส้นเลือด ทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง และ หยุดการเติบโต ถือเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงมะเร็ง เรียกวิธีการนี้ว่า TransArterial Chemo Embolization; TACE
  3. การแทงเข็มผ่านผนังหน้าท้อง เข้าไปที่ก้อนมะเร็งและฉีดสารเคมีเข้มข้นเพื่อให้ก้อนมะเร็งเกิดการเน่าตาย เช่น แอลกอฮอล์ความเข้มสูง (Percutaneous Ethanol Injection; PEI)

ดังนั้นจะเห็นว่าในปัจจุบัน แม้เป็นมะเร็งตับในระยะที่การรักษามาตรฐานไม่สามารถรักษา ผู้ป่วยการยังมีทางเลือกของการรักษาอีกมากมาย จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อสงสัยมะเร็งตับเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000